ประเภทของโลโก้

Word mark หรือ Logotype
ออกแบบโลโก้โดยใช้ตัวอักษรในการออกแบบโลโก้ล้วนๆ โดยอาจจะมีลูกเล่นกับตัวอักษรเพื่อให้สื่อถึงธุรกิจของคุณได้มากขึ้น  เช่น Coca-Cola หรือ Google
โลโก้ประเภทนี้จะเอาชื่อเต็มมาทำเป็นโลโก้แทนที่จะเป็นชื่อย่อ นั่นก็เพราะว่าชื่อธุรกิจเป็นคำที่แปลกใหม่มีเอกลักษณ์ในตัวของมันเองอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นคำที่ไม่มีความหมายก็ได้ แต่เมื่อผู้คนฟังหรืออ่านก็สามารถจดจำหรือติดปากได้ทันที และเนื่องจากโลโก้ประเภทนี้เน้นหนักไปที่ตัวอักษรมันจึงยังคงต้องการการออกแบบตัวอักษรที่เป็นเอกลักษณ์ หรือเลือกใช้ตัวอักษรที่เหมาะสมกับธุรกิจนั่นเอง

Pictorial mark หรือ Logo Symbol
ออกแบบโลโก้โดยใช้รูปภาพแทนโลโก้ โดยรูปภาพจะสื่อถึงธุรกิจของคุณ คือดูแล้วเข้าใจเลยว่าคืออะไร เป็นโลโก้ที่เกิดจากการเอารูปภาพที่เราคุ้นตาอยู่แล้วมาออกแบบใหม่ให้เป็นไอคอนที่จดจำง่ายขึ้น เช่น Apple, Twitter หรือ Target
เวลาเราเห็นครั้งแรกเราจะนึกภาพออกทันทีว่ามันคือรูปอะไร ส่วนใหญ่ธุรกิจที่ใช้โลโก้ประเภทนี้มักจะเป็นธุรกิจที่ผู้คนรู้จักดีอยู่แล้ว หากเป็นธุรกิจใหม่คนอาจจะงงๆ ว่าเป็นโลโก้ของแบรนด์อะไรกันแน่เพราะไม่มีตัวอักษรกำกับชื่อแบรนด์ไว้ อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังก็คือการเลือกรูปภาพมาทำเป็นโลโก้ ไม่ว่าจะเป็นรูปสัตว์ ผลไม้ หรือสิ่งของที่จะนำมาเป็นโลโก้นั้นสื่อสารถึงชื่อแบรนด์หรือไม่? เกี่ยวข้องกับประเภทธุรกิจที่ทำหรือเปล่า? หรือต้องการให้มีความหมายอะไรแอบซ่อนอยู่เบื้องหลังไหม? เป็นต้น

Abstract mark
ออกแบบโลโก้โดยใช้รูปภาพเป็นลักษณะเป็นนามธรรมสื่อถึงธุรกิจ โลโก้ประเภทนี้จะคล้ายกับแบบที่แล้วตรงที่เน้นรูปภาพเช่นเดียวกัน แต่จะต่างกันตรงที่โลโก้ประเภทนี้จะเป็นภาพสมมุติที่เกิดจากการเอารูปทรงเราขาคณิตต่างๆ มาออกแบบให้เกิดเป็นสัญลักษณ์ใหม่ที่แปลกตาหรือเป็นรูปทรงนามธรรมแทนที่จะเป็นรูปสัตว์หรือผลไม้ ยกตัวอย่างเช่น รูปยิ้มของ happy, PEPSI และ Adidas ที่เป็นสัญลักษณ์เฉพาะของมันเอง
ข้อดีของโลโก้ประเภทนี้ก็คือเราสามารถออกแบบให้เป็นโลโก้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นมากๆ แตกต่างจากสิ่งเดิมๆ ที่เราเคยเห็นในชีวิตประจำวันได้ อีกทั้งยังสามารถสื่อสารถึงคุณค่าของแบรนด์ผ่านลายเส้น รูปร่าง และสีที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาเองได้อีกด้วย

Lettermark หรือ Monogram
ออกแบบโลโก้โดยใช้อักษรย่อ ของชื่อธุรกิจหรือชื่อบริษัท มักจะใช้กับธุรกิจที่มีชื่อยาว แต่ต้องการย่อให้เหลือตัวอักษรแค่ไม่กี่ตัว เช่น HBO, IBM และ NASA เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ
โลโก้แบบ Lettermark มักถูกออกแบบให้เป็นรูปตัวอักษรที่อ่านง่าย โดยอาจจะมีการออกแบบลักษณะอักษรพิเศษหรือใส่องค์ประกอบที่ทำให้โลโก้โดดเด่น แตกต่างจากอักษรทั่วๆ ไป

Emblem
ออกแบบโลโก้โดยใช้ภาพตราสัญลักษณ์ง่ายๆ เป็นองค์ประกอบ รวมเข้ากับชื่อบริษัท อาจจะเป็นกรอบสี่เหลี่ยม วงกลม โล่ หรืออืนๆ ที่ประกอบไปด้วยรูปภาพหรือตัวอักษรในกรอบนั้นอีกที เช่น Starbucks 
โลโก้ประเภทนี้จะดูมีกลิ่นไอความคลาสสิก มั่นคง แข็งแกร่ง น่าเชื่อถือ จึงเป็นที่นิยมใช้ในองค์กรของรัฐ โรงเรียน และทีมกีฬา แต่อาจจะมีข้อเสียบ้างในการนำไปใช้บนสื่อขนาดเล็กหรือการมองในระยะไกลๆ หากโลโก้ถูกออกแบบให้มีรายละเอียดที่มากเกินไป ดังนั้นการระมัดระวังไม่ให้โลโก้มีความซับซ้อนจนเกินไปก็ถือว่าเป็นความคิดที่ดี

Mascot
ออกแบบโลโก้โดยใช้มาสคอต รูปคนหรือตัวการ์ตูนที่สื่อถึงผู้ก่อตั้งบริษัทหรือตัวแทนของแบรนด์ที่เป็นตัวเป็นตน เช่น KFC, Michelin หรือ โก๋แก่
โลโก้แบบมาสคอตเหมาะแก่การสร้างบรรยาการแบรนด์ให้คนคุ้นเคย รู้สึกเป็นกันเอง เป็นมิตร ดูมีชีวิตชีวา และสัมผัสได้ แต่สิ่งที่ต้องระวังของการออกแบบโลโก้ประเภทนี้ก็คือรายละเอียดที่มากเกินไปของโลโก้อาจไม่เหมาะแก่การนำไปใช้บนสื่อต่างๆ ที่มีขนาดเล็กหรือถูกจำกัดจำนวนสี เป็นต้น

Combination Mark
โลโก้ประเภทนี้เป็นเป็นการรวมกันระหว่างตัวอักษรและรูปภาพในโลโก้เดียวกัน อาจจะยืนข้างกัน บนกับล่าง หรือรวมผสานกันเป็นหนึ่งเดียวกันเลยก็ได้ เช่น Burger King หรือ Lacoste
ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้โลโก้แบบผสมผสานเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง เพราะผู้คนสามารถจดจำทั้งภาพและชื่อแบรนด์ได้ในเวลาเดียวกัน แม้จะไม่เคยรู้จักแบรนด์นั้นมาก่อนก็ตาม และในอนาคตก็ยังสามารถลดทอนชื่อแบรนด์ออกไปให้เหลือแต่รูปภาพอย่างเดียวก็ได้ เมื่อแบรนด์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางแล้ว