ในงานออกแบบเราจะต้องเจอกับไฟล์งานออกแบบมากมาย NapaDesign ขอแนะนำว่าไฟล์งานที่เราพบเจอกันอยู่บ่อยๆ แต่ละไฟล์ต่างกันอย่างไรและเหมาะสมกับงานประเภทไหน

ไฟล์ .psd เป็นไฟล์จากโปรแกรมสุดฮิตอย่าง Adobe Photoshop สำหรับไฟล์ PSD จะเป็นไฟล์งานออกแบบประเภท Raster ที่แสดงผลเป็นภาพบิตแมป (bitmap) หรืออธิบายอย่างง่ายภาพเกิดจากจุดหนึ่งจุดเรียงต่อกันจนเกิดเป็นรูปภาพ สิ่งที่ทำให้ไฟล์ PSD มีเลเยอร์ของรูปภาพทำให้เราสามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนงานของเราได้เสมอ ถือว่าเป็นไฟล์ที่เราจำเป็นจะต้องบันทึกไว้เสมอเผื่อมีการแก้ไขในภายหลัง

.ai เป็นไฟล์ที่เราพบเจอได้บ่อยไม่แพ้กันเพราะเป็นไฟล์ที่บันทึกจากโปรแกรม Adobe Illustrator ที่หลายคนคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี .ai จะทำงานแบบ Vector ซึ่งข้อดีของภาพแบบนี้คือเกิดจากการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ทำให้ภาพแบบ Vector สามารถขยายภาพได้ใหญ่เท่าที่เราต้องการโดยไม่แตกหรือเบลอแต่ภาพที่ Vector สามารถสร้างได้จะเป็นภาพที่เป็นรูปทรงเรขาคณิตเท่านั้น

PDF ย่อมาจาก Portable Document Format เป็นหนึ่งในไฟล์ที่อยู่คู่กับมนุษย์เรามาอย่างยาวนานและยังใช้งานกันอยู่ตลอด สำหรับไฟล์ .pdf ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Adobe เช่นกันเป็นไฟล์ที่เอาไว้ใช้อ่านเอกสารเป็นหลักจะเป็นไฟล์ที่ Fixed layout คือไม่สามารถแก้ไขรูปแบบของมันได้เรียกได้ว่าบันทึกมาแบบไหนก็ต้องใช้งานแบบนั้น ข้อดีของไฟล์ .pdf ที่เห็นได้ชัดคือคอมพิวเตอร์หลายเครื่องไหนๆ ก็สามารถเปิดไฟล์ .pdf ขึ้นมาใช้งานได้โดยแสดงผลไม่ผิดพลาดไม่ว่าจะเป็นเครื่อง Windows หรือ Mac

EPS ย่อมาจาก Encapsulated PostScript เป็นไฟล์ที่แสดงผลในรูปแบบ Vector เช่นเดียวกันกับ AI แต่การแสดงผลในไฟล์ .eps จะสามารถบันทึกได้ทั้งภาพประเภท Vector และ Bitmap ได้เลยในไฟล์เดียวถือว่าเป็นอีกหนึ่งรูปแบบไฟล์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

SVG ย่อมาจาก Scalable Vector Graphics (หนึ่งในไฟล์ที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น) เป็นไฟล์งานออกแบบประเภท Vector เช่นเดียวกันกับ AI และ EPS นอกจากจะแสดงผลกราฟิกต่างๆแล้วยังสามารถทำเป็นฟอนต์ได้อีกด้วย ซึ่งไฟล์ .svg ได้รับความนิยมมาใช้ในการพัฒนาเว็บไซต์เพราะสามารถเพิ่มลดขนาดได้โดยที่ไม่เสียคุณภาพของไฟล์ เพราะเว็บไซต์ในยุคนี้จะต้องรองรับการแสดงผลในหน้าจอที่มีหลากหลายขนาดแตกต่างกัน

JPG ย่อมาจาก Joint Photographic Experts Group หนึ่งในไฟล์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดที่หลายคนยอมรับว่าเมื่อถูกบันทึกแล้วเสียคุณภาพของไฟล์ไปน้อยมาก จึงเป็นไฟล์ได้รับความนิยมทั้งในวงการถ่ายภาพและออกแบบและยังมีขนาดไฟล์ที่ไม่ใหญ่มากนัก แต่ถ้าคุณต้องการไฟล์ที่มีขนาดเล็กในโปรแกรมอย่าง Photoshop ก็ยังสามารถบีบอัดภาพให้ไฟล์มีขนาดที่เล็กลงไปอีกแต่ก็เสียความคมชัดของภาพไปไม่น้อย ถือว่าเป็นไฟล์ที่ใช้งานได้เสมอไม่ว่าจะเปิดบนคอมพิวเตอร์เครื่องไหนก็ตาม

GIF ย่อมาจาก Graphic Interchange Format ถ้าต้องการไฟล์ภาพที่เคลื่อนไหวได้คงหนีไม่พ้นการใช้งานไฟล์ .gif อย่างแน่นอน สำหรับไฟล์ .gif เคยได้รับความนิยมบนเว็บไซต์เป็นหลัก (ตอนนี้ก็ยังใช้งาน) ในปัจจุบันเราจะพบเห็นไฟล์ .gif ได้มากขึ้นตามสื่อสังคมต่างๆ ด้วยความที่สามารถเคลื่อนไหวได้ทำให้นำไปต่อยอดเป็นลูกเล่นต่างๆ ได้มากมาย

PNG ย่อมากจาก Portable Network Graphics
เป็นเหมือนการรวมข้อดีของ JPEG กับ GIF มาไว้ด้วยกัน
มีการบีบอัดไฟล์ภาพที่ดีและเล็กกว่า GIF สามารถทำภาพโปร่งใสได้ดีกว่า
และยังสามารถเลือกเซฟเป็นไฟล์ 8 bit (256 สี) หรือไฟล์ 24 bit (16 ล้านสี) ได้อีกด้วย
ไม่สูญเสียข้อมูลเมื่อเซฟ แต่มีขนาดไฟล์ใหญ่ และไม่สามารถทำไฟล์ Animation ได้